ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีม Policy Watch ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโครงสร้างการจัดเก็บภาษีโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ฐานภาษี ได้แก่ ฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานทรัพย์สิน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินหรือที่เรียกว่า “ภาษีทรัพย์สิน” เลย โดยเฉพาะในรูปที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งสะท้อนถึงความมั่งคั่งของผู้ครอบครอง จึงก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ และการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน
โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงการจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่” ที่ถือว่าเป็นภาษีที่เกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จัดเก็บจากฐานรายได้และมูลค่าที่ดินที่ไม่เป็นปัจจุบันและมีการรั่วไหล เป็นเหตุผลให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทีม Policy Watch เห็นว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ลดปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินของคนเพียงกลุ่มเดียว หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ข้อบกพร่องของภาษีเดิม คือ ภาษีโรงเรือนฯ คำนวณภาษีบน “ฐานรายได้” หรือที่เรียกกันว่า “ค่ารายปี” ในสัดส่วน 12.5% มิใช่บน “ฐานความมั่นคั่ง” อีกทั้ง ยังใช้ดุลพินิจ จนทำให้เกิดการรั่วไหลของภาษีได้ง่าย การยกเว้นภาษีจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ และอัตราภาษีที่สูงอย่างค่ารายปี 12.5% ยังทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีมากขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่ ใช้อัตราภาษีถดถอย ถ้าราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้น อัตราภาษีจะต่ำ ทำให้จัดเก็บรายได้ได้ต่ำ รวมถึง ราคาปานกลางยังล้าสมัย เพราะคิดจากฐานเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
หลักการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบภาษีใหม่ ภาระภาษีจะตกอยู่กับคนในระดับบนมากกว่าคนในระดับล่าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายฐานภาษีรายรับเพิ่มขึ้น โดยพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราการจัดเก็บเป็นเพดานสูงสุด ดังนี้ ที่ดินในเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี โดยจะมีคณะกรรมการกลางประเมินอัตราภาษี ทุก 4 ปี
หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วสังคมจะได้อะไร? จากการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ผศ.ดร.ดวงมณี อธิบายว่า การคำนวณภาษีจากฐานทรัพย์สิน จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดการรั่วไหลของภาษี อัตราภาษีไม่ถดถอย ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพ ขยายฐานภาษี เพิ่มรายรับภาษี และยังช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ในหลายจังหวัดมีปัญหาการกักตุนที่ดินในกลุ่มของนักการเมือง หรือนายทุนต่างๆ เช่น ภูเก็ต กลุ่มคน 50 คนถือครองที่ดินในภูเก็ตรวมกว่า 14.23% หมายถึง ที่ดิน 14.23% ของทั้งจังหวัด อยู่ในมือคนเพียง 50 คน ดูจากสัดส่วนอาจมองเห็นเป็นตัวเลขไม่เยอะ แต่หากดูเป็นจำนวนที่ดินจริงๆ แล้วไม่น้อยทีเดียว หรือในกรุงเทพฯ ก็ดี ที่ดิน 10.07% ของทั้งหมด อยู่ในมือกลุ่มคน 50 คนเช่นเดียวกัน