วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วิเคราะห์อาการโอ้อวด (สาเถยยะ)

  • การอวดที่เป็นกุศลธรรม เช่น เห็นธรรมชาติที่สวยงามเกิดฉันทะความพอใจ จึงต้องการเผื่อแผ่ด้วยการพยายามชักชวนผู้อื่นให้มาดูมาเห็นเพื่อให้มีความรู้สึกที่ดี
  • การอวดที่เป็นอกุศลธรรม เช่น เมื่อตนเกิดความสำเร็จประการใดหรือมีสิ่งที่ตนคิดว่าดี และรู้สึกอยากให้ผู้อื่นรับรู้เพื่อสนองตัณหาตนเองในแง่ที่ว่าทำให้ตนเองรู้สึกเป็นผู้มีคุณค่าสูงส่งเหนือกว่าผู้อื่น ผลกระทบที่มักเกิดขึ้นกับผู้รับรู้หากไม่ใช่มุทิตาจิตความยินดีก็จะเป็นความอิจฉาและความรู้สึกเศร้าหมองว่าตนต่ำต้อยกว่า ฉันทะถูกทำลาย หรือแม้แต่ก่อให้เกิดการตอบสนองกลับด้วยการดูถูกหรือโม้ข่มเพื่อกลบความรู้สึกมีปมด้อยของตน วิธีแก้ควรเป็นการฝึกสร้างสันโดษ (ความยินดีของของตน ยินดีตามมีตามได้) และมุทิตาในฝั่งคนฟังคนดู และไม่ช่วยกันส่งเสริมนิสัยขี้อวดขี้โม้นี้ในฝั่งคนมีดีโดยผู้ชื่นชมต้องไม่ชมจนเกินเลยไปเป็นการพะเน้าพะนอเพราะจะทำให้ขาดสติเกิดความถือมั่นในตัว เกิดตัณหาอยากได้คำพะนอ เมื่อใดมีดีต้องอวดเพื่อให้ได้ฟังคำพะนอหรือได้เห็นสายตาอิจฉา ผู้ใหญ่หลายคนปลูกฝังนิสัยแบบนี้ให้ลูกหลานโดยไม่รู้ตัวด้วยการชมลูกชมหลานเกินเหตุให้ผู้อื่นรับฟัง ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อสนองตัณหาตนเอง มิใช่ต้องการเผื่อแผ่ความดีงามให้ผู้อื่นคิดอย่างกุศลธรรม ทั้งยังเป็นการสร้างนิสัยเสียให้ลูกหลานที่ถูกชมต่อหน้า สร้างอกุศลจิตให้แก่ผู้รับฟังที่อ่อนการเจริญสติ หนังสือ "อธิบายธรรมในนวโกวาท" ได้แนะนำวิธีแก้สาเถยยะไว้ซึ่งให้แก้ด้วย สัปปุริสธรรม 7
--วิเคราะห์ตามตำรา พุทธธรรม