1 ใน 5 สุดยอดปรากฏการณ์ iPad ฟีเวอร์ ที่หลายคนสัมผัสได้แล้วในขณะนี้ คือ การ "เป็นหมัน" ของอุตสาหกรรม eBook ฉบับภาษาไทย แต่ดาวรุ่งกลับเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ที่ "Digital Magazine" หรือนิตยสารดิจิตอลแทน
Digital Magazine นั้นต่างจาก eMagazine ตรงที่อย่างหลังนั้น ตัวผู้อ่านจะต้องโหลดไฟล์พร้อมพิมพ์อยู่ในรูปแบบไฟล์นามสกุลที่เรียกว่า Portable Document Format (PDF) โดยดูบนเว็บไซต์ หรือโปรแกรมอ่านเอกสาร แต่ Digital Magazine จะเป็นนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ที่บรรจุคอนเทนท์ลงในแอปพลิเคชัน ต่อยอดให้การอ่านมีความสนุกสนานและโต้ตอบได้มากขึ้น ทำให้ผู้อ่านนิตยสารสามารถชมวิดีโอ ดูฟังโฆษณา และร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่นิตยสารดิจิตอลเล่มนั้นๆ จัดทำขึ้นมาในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสมากกว่าแค่การอ่านแบบปกติได้อย่างตื่นตายิ่งขึ้น
Times คือ นิตยสารที่ประเดิมคลอดแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้ iPad ที่เป็นสมาชิก Times ได้ดาวน์โหลดฟรี ก่อนที่นานาสื่อที่ออกเป็นรายวัน/รายเดือน/รายปี ต่างพากันชักธงรบกระโจนเข้าสู่ตลาดนี้ เช่นเดียวกับค่ายนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยที่พร้อมใจลงเล่นในตลาดนี้แล้ว
ปรากฏการณ์ที่จะเห็นชัดเจนนับจากนี้คือ นิตยสารไทยจะไม่ได้มีแต่โฆษณาภาพนิ่งอีกต่อไป แต่สามารถแสดงในรูปแบบวิดีโอ พ่วงเครือข่ายสังคม หรือดึงข้อมูลจากระบบ CRM เพื่อโอกาสต่อยอดสู่การซื้อสินค้าได้ โดยทั้งหมดนี้ ค่ายนิตยสารจะไม่ต้องรอรอบวันเวลาวางแผงสิ่งพิมพ์อย่างที่เคย แต่จะมีโอกาสออกหนังสือได้ถี่มากขึ้นตามที่ต้องการ เนื่องจากไม่มีต้นทุนการพิมพ์ แถมสามารถวัดผลตอบรับได้ทันใจ ไม่ต้องรออีกต่อไป
ความนิยมตัวเครื่อง iPad บวกกับอิทธิพลของตลาดแอปพลิเคชันที่เกิดจากตลาดสมาร์ทโฟน ทำให้อุตสาหกรรม Digital Magazine ก้าวนำธุรกิจหนังสือดิจิตอลอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งแม้แต่เครื่องอ่าน eBook อย่าง Kindle จาก Amazon หรือ Nook จาก Barns&Nobel ก็ยังไม่สามารถสร้างกระแสร้อนแรงให้ค่ายหนังสือมุ่งความสนใจไปที่ตลาด eBook ได้
จุดนี้มีการวิเคราะห์กันว่า มีสาเหตุมาจากที่ eBook ไม่ขยายตัว เป็นเพราะหนังสือเล่มมีภาวะการเก็บสต็อกที่อยู่ในรูปแบบหนังสือเล่มที่มากกว่าเทปและดีวีดีด้วยซ้ำ ทำให้ Digital Magazine เกิดแรงดันในการขยายตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
--Manager.co.th