วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

บุญญกริยาวัตถุ 10 (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ)

ข้อ ๔. อปจายนมัย อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ บุคคลผู้ใหญ่ต้องมีคุณสมบัติอันดีทางโลกหรือทางธรรมอันถูกต้องและเราเคารพเพื่ออนุโมทนาในคุณงามความดีในทางโลกหรือทางธรรมอันถูกต้องของผู้นี้ การอ่อนน้อมถ่อมตนจัดเป็นบุญเพราะจิตใจไม่แข็งกระด้าง แต่การอ่อนน้อมนั้นต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ถ้าไปอ่อนน้อมหรือบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ก็จะเกิดโทษแทนที่จะเกิดคุณ คนที่ควรอ่อนน้อมท่านเรียกว่า วุฑฒบุคคล ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ
๑.วัยวุฑฒะ คือ คนที่แก่กว่าเรา อายุมากกว่าเรา เช่น พี่ ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า
๒.ชาติวุฑฒะ คือ คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา แม้จะมีอายุน้อยกว่าเรา แต่ชาติตระกูลสูงก็ควรแสดงความเคารพ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญ
๓.คุณวุฑฒะ คือ คนที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรา เช่น พระภิกษุสามเณร แม้จะอายุน้อยกว่าเราก็ควรนอบน้อมถ่อมตนต่อท่าน เพราะท่านมีคุณธรรม คือศีลสูงกว่าเรา หรือคนที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ เพราะท่านมีคุณต่อเรา หรือสังคม
การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อวุฑฒบุคคล ๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้ว ด้วยการกราบไหว้ ลุกรับ หรือพูดจาแสดงสัมมาคาระวะ หรือให้เกียรติต่อท่านเป็นต้น จัดเป็นการทำบุญประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ย่อมได้รับความสุขความเจริญในชีวิตได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
   อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ
พร ๔ ประการ คือ อายุ ๑ ผิวพรรณผ่องใส ๑ การมีความสุขใจ ๑ การมีกำลังกายกำลังใจ ๑ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ ประพฤติน้อมน้อมต่อวุฑฒบุคคล (ผู้ใหญ่) อยู่เป็นนิตย์
คำอ่าน=อะ-ภิ-วา-ทะ-นะ-สี-ลิส-สะ-นิจ-จัง-วุฑ-ฒา-ปะ-จา-ยิ-โน-จัต-ตา-โร-ธัม-มา-วัฑ-ฒัน-ติ-อา-ยุ-วัณ-โณ--สุ-ขัง-พะ-ลัง ฯ


































สรุป ไหว้ผู้มีคุณธรรม(ศีล)สูงกว่าเรา ไหว้ผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล ไหว้ครูอาจารย์ ไหว้ราชวงศ์ อ่อนน้อมต่อผู็้มีอายุมากกว่า เหล่านี้เป็นการอนุโมทนาคุณทางโลก(รวมทั้งบุญคุณ)หรือคุณทางธรรม ไม่สมควรไหว้หรือแสดงเคารพต่อบุคคลใดก็ตามที่รู้ชัดว่าไร้คุณธรรมและไม่เคยสร้างบุญคุณใดไว้กับเรา ผู้มีศีลน้อยกว่าควรเคารพผู้มีศีลมากกว่า ผู้มีศีลเท่ากันเช่นพระภิกษุจะเคารพกันที่จำนวนพรรษาของการอุปสมบท หรือระดับธรรมที่บรรลุ เช่น พระโสดาบันเคารพพระอรหันต์ซึ่งเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลำดับๆ

ข้อ ๕. เวยยาวัจจมัย หรือ ไวยาวัจจมัย ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน

ข้ออื่นๆ ได้แก่
๑.  ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น องค์ทานที่จะทำนั้นต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ องค์ทานนั้นต้องมีประโยชน์กับปฏิคาหกหรือผู้รับ ปฏิคาหกหรือผู้รับต้องเป็นบุคคลที่สมควร
๒.  ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริตทางกาย  วาจา การกินอาหารต้องพิจารณาว่ากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ การแต่งกายต้องพิจารณาว่าแต่งกายเพื่อป้องกันอุณหภูมิร้อนเย็น และป้องกันความอุจาดลามก ที่อยู่อาศัยจะต้องพิจารณาว่าเพื่อป้องกันแดดป้องกันฝน การกินยารักษาโรคต้องพิจารณาว่าเพื่อบำบัดทุกขเวทนาให้ลดน้อยถอยลง
๓.  ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง(วิปัสสนาภาวนา) ภาวนาควรถูกต้องในพระธรรมของพุทธศาสนา
๖.  ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว
๗.  ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว
๘.  ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม
๙.  ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง "ละความชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์"

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อสงเคราะห์ลงเหลือบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทานมัย ศีลมัย และภาวนามัยเท่านั้นก็ได้ เพราะปัตติทานและปัตตานุโมนา  เกี่ยวข้องกับเรื่องของการให้ จึงสงเคราะห์เป็นทานมัย ส่วนอปจายนะและเวยยาวัจจะเกี่ยวข้องกับการประพฤติทางกาย วาจาจึงสงเคราะห์เป็นศีลมัย ธัมมัสสวนะ และธัมมเทสนาก็เป็นเหตุ ให้เกิดปัญญา จึงสงเคราะห์เป็นภาวนามัย  ส่วนทิฏฐุชุกรรมสงเคราะห์ ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพราะเมื่อมีความเห็นตรง ย่อมเป็นปัจจัยให้กุศลขั้นอื่นเจริญไพบูลย์ และมีผลมีอานิสงส์มาก