วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ระดับของสมรรถภาพทางด้านความรู้ความคิด (Cognitive Domain)

พุทธิพิสัย (cognitive domain) ของคนประกอบด้วยความรู้ตามระดับต่าง ๆ รวม 6 ระดับ มาจาก Bloom's Taxonomy ซึ่งอาจพิจารณาจากระดับความรู้ในขั้นพื้นฐานไปสู่ระดับของความรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปดังต่อไปนี้

  1. ความรู้ (Knowledge) เป็นการทำงานขั้นต่ำสุดของสมอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นถึงการจำ เน้นคำถาม WHAT โดยไม่มีการประยุกต์ใช้ เช่น เมืองหลวงของไทยชื่ออะไร
  2. ความเข้าใจ (Comprehension) เน้นคำถาม WHY เป็นความสามารถในการแปลความหมาย หรือการขยายความสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  3. การนำไปใช้ (Application) เป็นการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ของสมองเพื่อแก้ปัญหา ทดลอง คำนวณ  ทำให้สมบูรณ์ ตรวจสอบ หรือค้นพบ   โดยให้ ใช้ข้อมูล ใช้กฎ ใช้ทฤษฎี แสดง คำนวณ ทดสอบ แก้ปัญหา ค้นหา เปลี่ยน ขยายความ
  4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก เป็นการคิดเชิงลึก จำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แจกแจงรายละเอียดของส่วนประกอบเหล่านั้น เพื่อหาความสัมพันธ์ จัดโครงสร้างความสัมพันธ์ หรือเพื่อรู้ความแตกต่าง เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง ข้อดี ข้อเสีย
  5. การประเมิน (Evaluation) เป็นการคิดตัดสินใจ ตัดสินเกี่ยวกับความคิด ค่านิยม ผลงาน คำตอบ วิธีการและเนื้อหาสาระเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับมาตรฐานหรือเกณฑ์ (criteria) เป็นทักษะการคิดชั้นสูง โดยให้ เปรียบเทียบ หาคุณค่า จัดลำดับ สร้างทางเลือก สนับสนุน สรุปความ เป็นทักษะการคิดขั้นสูงเพราะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ การนำไปปรับใช้ การวิเคราะห์เข้ามาพิจารณาประกอบกันเพื่อทำการประเมิน
  6. การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการรวบรวมส่วนประกอบย่อย ๆ หรือส่วนใหญ่ ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเรื่องราวอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังเคราะห์จะมีลักษณะของการเป็นกระบวนการรวบรวมเนื้อหาสาระของเรื่องต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจนขึ้นมาก่อน นั่นคือการร้อยเรียงเพื่อสรุป การสังเคราะห์ยังเป็นการคิดใหม่ ประดิษฐ์สิ่งใหม่ จากการรวบรวมส่วนประกอบย่อยจนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติต่างไปจากเดิม หรือคิดสร้างแนวคิดใหม่ โดยให้ สร้างใหม่ จัดระเบียบ ทำให้เป็นรูปแบบทั่วไป –หาสูตร วางแผน เขียนใหม่ในรูปอื่น 
การศึกษาในระดับ ป.ตรี จะเน้นข้อ 1-3 เพื่อสร้างทักษะในการประกอบวิชาชีพและพื้นฐานความรู้ภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ป.โท จะเน้นข้อ 1-4 ป.เอก เน้นข้อ 6 ส่วนข้อ 5 เกิดกับผู้มีประสบการณ์ข้อ 4 มาก