วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหตุใดจึงทะเลาะกัน

เพราะ อิจฉาหรือตระหนี่ ซึ่งเกิดจากเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รักหรือสิ่งที่ไม่รัก แก้ได้โดยรีบวางอุเบกขาให้ทันเพื่อหยุดอิจฉาหรือตระหนี่ (อุเบกขาคือการวางใจเป็นกลางโดยไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงและเพราะกลัว) --ท้าวสักเทวราชกราบทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านท้าวสักเทวราช ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น กราบทูลถามปัญหากับองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้
  • ทูลถาม เทวดา มนุษย์ สัตว์ นาค คนธรรพ์ ผีทั้งหลายมากมาย มีอะไร ถูกอะไรผูกมัดไว้ แม้ตั้งใจจะไม่จองเวรก็ต้องอยู่อย่างผู้มีเวรมีกรรม มีศัตรู หมู่มารภัยอันตรายรอบด้านเบียดเบียน
  • ทรงตอบ มีความตระหนี่เหนียวแน่น ความอิจฉาริษยา เป็นเครื่องผูกมัดจิต
  • ทูลถาม ความตระหนี่ ความอิจฉาริษยา เกิดจากอะไร
  • ทรงตอบ เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก และสิ่งที่ไม่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก และไม่รักแล้ว ก็ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีริษยา
  • ทูลถาม สิ่งที่รัก และสิ่งที่ไม่รัก เกิดจากอะไร
  • ทรงตอบ เกิดจากความพอใจ (ฉันทะ) เมื่อไม่มีความพอใจก็ไม่มีสิ่งที่รัก และสิ่งที่ไม่รัก
  • ทูลถาม ความพอใจ เกิดจากอะไร
  • ทรงตอบ ความพอใจเกิดจากความนึกคิดตรึกตรองวิตกกังวลเมื่อไม่มีความตรึกตรองวิตก ก็ไม่มีความพอใจ
  • ทูลถาม ความตรึกตรองวิตกกังวลเกิดจากอะไร
  • ทรงตอบ เกิดจากตัณหา ความทะยานอยาก มีมานะ ความถือว่ามีตัวมีตน ทิฏฐิ ความเห็น ความเข้าใจของตนเป็นใหญ่
  • ทูลถาม ภิกษุควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อความดับสิ้นของกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ
  • ทรงตอบ ดับด้วยความไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ทำจิตวางเฉยต่อทุกสิ่งทุกอย่างใดๆ ในโลก ให้รู้ตัวว่าทุกอย่างมีเกิดมีเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ให้เจริญธรรมด้วยระลึกถึงคุณความดี 10 อย่าง คือ อนุสติ 10 ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุณความดีของศีล ทาน เทวดา นึกถึงร่างกายเป็นทุกข์เป็นโทษ นึกถึงความตาย นึกถึงลมหายใจเข้าออก ไม่มีลมร่างกายตาย นึกถึงคุณของพระนิพพาน ดับความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดเป็นทั้งศีล สมาธิ วิปัสสนาญาณ
  • ทูลถาม ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงชื่อว่าสำรวมปาฏิโมกข์ (มีศีลเป็นใหญ่)
  • ทรงตอบ ภิกษุพึงสำรวมกาย วาจา ใจ ทางกุศลธรรมด้วยอนุสติ 10 นั้น
  • ทูลถาม ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงชื่อว่า สำรวมกาย วาจา ใจ
  • ทรงตอบ รับรู้อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อารมณ์หลงติดสุขในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ควรรับเข้าไว้ในจิต รีบเร่งขจัดทิ้งออกจากจิตใจให้หมดไป อารมณ์ที่ควรรับไว้พิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณ คือ อสุภกรรมฐาน ทุกอย่างเป็นซากศพ ตายกันหมดทั้งสิ้น อาหาเรปฏิกูลสัญญา อาหารทุกอย่างมาจากของสกปรกซากพืช ซากสัตว์ จตุธาตววัตถาน 4 ร่างกายประกอบขึ้นด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาทุกๆ สิ่งสิ้นที่เห็นใดๆ ในโลก ในสวรรค์ เป็นของชั่วคราว เป็นอนัตตา สูญสลายในที่สุด