การยืน
ให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย ยืนตรง หน้าตรง หลับตา ให้สติอยู่ที่กลางกระหม่อม สำรวจจิต เอาสติตาม วาดมโนภาพร่างกายคำว่ายืน จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอจากสะดือลงไปปลายเท้านับเป็น ๑ ครั้ง ครั้งที่ ๒ กำหนดขึ้นคำว่ายืนอยู่ปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอจากสะดือไปกลางกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ ๒ ครั้ง ขณะนั้นสำรวมจิตอยู่ที่กาย อย่าให้ออกนอกกายแล้วลืมตาค่อย ๆ ก้มหน้ามองดูปลายเท้า ให้สติจับอยู่ที่ปลายเท้าเพื่อเตรียมเดินจงกลมต่อไป
การเดิน
ลืมตาก้มหน้าและกำหนดว่าขวาย่างหนอ ในใจคำว่าขวา ยกส้นเท้าขวาขึ้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องพร้อมกัน ย่างก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าอย่างช้าๆ เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่าหนอเท้าลงถึงพื้นพอกัน จากนั้นสำรวจจิตไว้ที่เท้าซ้ายตั้งสติตั้งลงไป กำหนดว่าซ้ายย่างหนอ สลับกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไประยะก้าวได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน หน้าตรง หลับตา กำหนดยืนหนอช้าๆ อีก ๕ ครั้ง จากนั้นลืมตา ก้มหน้ามองดูปลายเท้า
การกลับ
กำหนดว่า กลับ…..หนอ ๔ ครั้ง คำว่า กลับหนอครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา ครั้งที่สอง เคลื่อนเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวา ครั้งที่สามทำเหมือนครั้งที่ ๑ ครั้งที่สี่ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ เมื่อครบสี่ครั้งแล้วจะอยู่ในท่ากลับหลังต่อไปกำหนด ยืนหนอช้าๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตา ก้มหน้า แล้วกำหนดเดิน ต่อไปจนหมดเวลาที่ต้องการ
การนั่ง
ให้ทำต่อจากการเดินจงกลม อย่าให้ขาดตอนเมื่อเดินจงกลมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืนหนออีก ๕ ครั้ง แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนอๆ ช้าๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลง พร้อมกำหนดตามอารมณ์ที่ทำไปจริงๆ เช่น ย่อตัวหนอๆๆ เท้าพื้นหนอๆๆ คุกเข่าหนอๆๆ นั่งหนอๆๆ เป็นต้น