วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

สมรรถนะ(Competency)แตกต่างจากทักษะ ความรู้ ทัศนคติ และแรงจูงใจอย่างไร

สมรรถนะ (Competency) เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจาก ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude) จึงส่งผลให้คนทั่วไปสับสนว่า สมรรถนะ (Competency) แตกต่างจากความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ/แรงจูงใจ (Attitude/Motive) อย่างไร หรือความรู้หรือทักษะที่บุคคลมีอยู่นั่นถือเป็น Competency หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน สถาบัน Schoonover Associates ได้มีการศึกษาและอธิบายในเชิงเปรียบเทียบไว้ดังนี้

สมรรถนะ (Competency) VS ความรู้ (Knowledge)
ความรู้อย่างเดียวไม่ถือเป็นสมรรถนะ เว้นแต่ความรู้ในเรื่องนั้นจะนำมาประยุกต์ใช้กับงานให้ประสบผลสำเร็จจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะ
ตัวอย่าง ความรู้และความเข้าใจในความไม่แน่นอนของ “ราคา” ในตลาด ถือเป็นความรู้แต่ความสามารถในการนำความรู้และความเข้าใจในความไม่แน่นอนของ “ราคา” ในตลาดมาพัฒนารูปแบบการกำหนด”ราคา”ได้นั้น จึงจะถือเป็นสมรรถนะ

สมรรถนะ (Competency) VS ทักษะ (Skill)
ทักษะ (Skill) อย่างเดียวไม่ถือเป็นสมรรถนะ แต่ทักษะที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างชัดเจนถือเป็นสมรรถนะ (Competency)
ตัวอย่าง ความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นทักษะแต่ความสามารถในการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ใหม่ (Positioning) ในตลาดให้แตกต่างจากคู่แข่งถือเป็นสมรรถนะ (Competency)

สมรรถนะ (Competency)VS แรงจูงใจ/เจตคติ (Motive/Attitude)
เพียงแต่มีแรงจูงใจ/เจตคติ (Motive/Attitude) เพียงอย่างเดียวไม่ถือเป็นสมรรถนะ แต่ต้องเป็นแรงขับภายในที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่ตนมุ่งหวัง ไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเขา
ตัวอย่าง การต้องการความสำเร็จ เป็นแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดแนวคิดหรือทัศนคติที่ต้องการสร้างผลงานที่ดี แต่ความสามารถในการทำงานให้สำเร็จได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ถือเป็นสมรรถนะ (Competency)

สรุปแนวคิดของ Schoonover Associates เชื่อว่า ความรู้ ทักษะ แรงจูงใจ/เจตคติ โดดๆ ไม่ใช่สมรรถนะแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิด สมรรถนะ ซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์ได้ดังภาพ

============

ทักษะ (Skill) เป็นความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นจากจิตใจและร่างกายโดยความสามารถนี้จะรวมไปถึงการคิดเชิงระบบ (Analytical Thinking) ที่จะต้องคิดถึงความเป็นเหตุเป็นผลด้วย เช่น ทักษะในการเชื่อมโลหะ ซึ่งจะต้องเชื่อมอย่างไรให้โลหะติดเป็นเนื้อเดียวกันเป็นเส้นตรง สวยงาม ไม่ทำลายผิวส่วนอื่น เป็นต้น

ความรู้ (Knowledge) เป็นข้อมูลที่อยู่ในตัวบุคคลซึ่งจำเป็นต่องานที่รับผิดชอบ เช่น ความรู้ทางบัญชีที่จำเป็นต้องรู้กระบวนการลงบัญชี ตลอดจนงานอื่นๆที่จำเป็นต่อบัญชี เป็นต้น

อุปนิสัย (Trait) เป็นคุณลักษณะที่มักแสดงออกเพื่อโต้ตอบต่อสถานการณ์หนึ่งๆ เช่น การทำงานของนักบริหารบางท่านจะชอบความรวดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็วในการทำงาน แต่บางท่านจะค่อยๆคิด ช้าแต่รอบคอบ อันเนื่องมาจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหาหรือสถานการณ์ของแต่ละคน

แนวคิดของตนเอง (Self Concept) เป็นส่วนของค่านิยม (Value) เจตคติ (Attitude) และภาพลักษณ์ของตน (Self image) ซึ่งจะสามารถสังเกตจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาได้ เช่น บางคนชอบที่จะโต้แย้ง มักจะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเป็นต้น

แรงขับ (Motivate) เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความคิดหรือความต้องการที่จะเป็นต้นเหตุของการแสดงออก เช่น บางคนชอบทำงานยากๆ เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย ในทางตรงกันข้ามบางคนเป็นคนเฉื่อยชา จึงชอบทำงานง่ายๆ สบายๆ เป็นต้น

ดังนั้น ในส่วนที่เป็นยอดถูเขาน้ำแข็งคือ ทักษะ (Skill) และความรู้ (Knowledge) จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน จึงพัฒนาได้ง่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้การฝึกอบรมเป็นส่วนพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ในส่วนนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่จมอยู่ใต้น้ำ คือ แนวคิดของตนเอง (Self Concept) อุปนิสัย (Trait) แรงขับ (Motivate) จะพัฒนาได้ยากกว่า และต้องสังเกตจากพฤติกรรม การแสดงออกเมื่อเผชิญกับสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแรงขับและอุปนิสัยจะพัฒนาได้เมื่อค่อยๆผ่านการหล่อหลอมจากการดำรงชีวิต และประสบการณ์ทำงาน

--http://www.bangkokflying.com/th/knowledgeview.aspx?id=7