วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

ทอดกฐินกับทอดผ้าป่า

  • ทอดกฐิน จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอนแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น นั่นคือ 1 เดือนหลังออกพรรษา 
    • หมายเหตุ วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) และวันออกพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)
    • เหตุที่ทรงอนุญาตกฐิน: ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา (อยู่ด้านทิศปัจฉิม ในแคว้นโกศล) ประมาณ 30 รูป ล้วนถือธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ อาทิเช่น อารัญญิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ป่าเป็นวัตร, ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือถือการบิณฑบาตเป็นวัตร, และเตจจีวริกังคธุดงค์ คือถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร เป็นต้น อันมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความตั้งใจจะพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งจำพรรษาในเมืองสาวัตถี แต่ต้องเดินทางไกล พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ ก็เผอิญถึงฤดูกาลเข้าพรรษาเสียก่อน เดินทางต่อไปไม่ได้ พระภิกษุเหล่านั้นจึงตกลงกันอธิษฐานใจอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกต ตลอดไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยมีใจรัญจวนว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ ระยะทางห่างเพียง 6 โยชน์ แต่ก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วง 3 เดือน ออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว ก็เดินทางไปเมืองสาวัตถีโดยเร็ว การที่พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้น เป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงสุขทุกข์และความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรม ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา พระภิกษุเหล่านั้นต่างพากันกราบทูลให้ทรงทราบถึงความลำบากตรากตรำในระหว่างเดินทางของตน เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีจีวรเก่า พากันเดินเหยียบย่ำโคลนตม จีวรเปรอะเปื้อนโคลนเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน พระพุทธองค์ทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น และเห็นว่า “กฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญฺญาโต” การกรานกฐินนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงอนุญาตมา ดังนั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว รับผ้ากฐินของผู้มีจิตศรัทธาถวายได้ เมื่อได้รับแล้วมีความสามัคคีร่วมกันทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จะได้รับอานิสงส์หรือความยกเว้นในการผิดพระธรรมวินัย 5 ประการ นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ทราบพระบรมพุทธานุญาต และได้ถวายผ้ากฐินเป็นบุคคลแรก
    • วันที่รับกฐินได้ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือนอยู่อย่างน้อย 5 รูป และแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น
    • เนื่องจากกฐินทำได้เพียงปีละครั้ง จึงจัดว่าเป็นทานที่ทำได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบทานที่พระพุทธเจ้าทรงริเริ่มเองโดยไม่ได้มีอุบาสกอุบาสิการใดมาขอให้มี
  • ทอดผ้าป่า คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจํากัด คือสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา คือทำได้ตลอดทั้งปี และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน