คือ การมีสติรู้สภาวธรรมหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ
เช่นเมื่อเกิดสภาวะบางอย่างขึ้นในจิต อันนี้เป็นปรมัตถธรรม
ถัดจากนั้นก็จะเกิดสมมุติบัญญัติว่า นี้เรียกว่าราคะ
สมมุติตรงนี้ห้ามไม่ได้ เพราะจิตเขามีธรรมชาติเป็นนักจำและนักคิด
ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปห้ามหรือปฏิเสธสมมุติบัญญัติ
เพียงรู้ให้ทัน อย่าได้เผลอหรือหลงเพลินไปตามความคิดนึกปรุงแต่งนั้น
หรือแม้แต่การหลงไปคิดนึกเรื่องอื่นๆ ด้วย
แล้วให้เฝ้ารู้สภาวะ(ที่สมมุติเรียกว่าราคะนั้น)ต่อไป ในฐานะผู้สังเกตการณ์
จึงจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะอันนั้นได้
ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติที่ไปรู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
จะต้องไม่เพ่งใส่สภาวะนั้นด้วย
เพราะถ้าเพ่ง จิตจะกระด้างและเจริญปัญญาไม่ได้
แต่จิตจะ "จำ และจับ" สภาวะอันนั้นมาเป็นอารมณ์นิ่งๆ แทนการรู้สภาวะจริงๆ
พึงให้จิตเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เหมือนคนดูละคร ที่ไม่โดดเข้าไปเล่นละครเสียเอง
จิตที่ทรงตัวตั้งมั่น นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน
โดยไม่เผลอและไม่เพ่งนี้แหละ คือสัมมาสมาธิ
เป็นจิตที่พร้อมที่จะเปิดทางให้แก่การเจริญปัญญาอย่างแท้จริง
คือเมื่อจิตมีสติ รู้ปรมัตถธรรม ด้วยความตั้งมั่น ไม่เผลอและไม่เพ่ง
จิตจะได้เรียนรู้ความจริงของปรมัตถธรรมอันนั้นๆ 4 ประการ
คือ (1) รู้สภาวะของมันที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (รู้ตัวสภาวะ)
(2) รู้ว่าเมื่อสภาวะอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว
มันมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (รู้บทบาทของสภาวะ)
(3) รู้ว่าถ้ามันแสดงบทบาทของมันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น (รู้ผลของสภาวะ)
และเมื่อชำนาญมากเข้า เห็นสภาวะอันนั้นบ่อยครั้งเข้า
ก็จะ (4) รู้ว่า เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว
จึงกระตุ้นให้สภาวะอันนั้นเกิดตามมา (รู้เหตุใกล้ของสภาวะ)
การที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ หรือวิจัยธรรม (ธรรมวิจัย)
อันนี้เองคือการเจริญปัญญาของจิต หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ
ตัวอย่างเช่นในขณะที่มองไปเห็นภาพๆ หนึ่งปรากฏตรงหน้า
จิตเกิดจำได้หมายรู้ว่า นั่นเป็นภาพสาวงาม
แล้วสภาวธรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในจิต (ซึ่งเมื่อบัญญัติทีหลังก็เรียกว่า ราคะ)
การรู้สภาวะที่แปลกปลอมขึ้นในจิตนั่นแหละคือการรู้ตัวสภาวะของมัน
แล้วก็รู้ว่ามันมีบทบาทหรืออิทธิพลดึงดูด
ให้จิตหลงเพลินพอใจไปกับภาพที่เห็นนั้น
ผลก็คือ จิตถูกราคะครอบงำ
ให้คิด ให้ทำ ให้อยาก ไปตามอำนาจบงการของราคะ
และเมื่อรู้ทันราคะมากเข้า ก็จะรู้ว่า
การเห็นภาพที่สวยงาม เป็นเหตุใกล้ให้เกิดราคะ
จึงจำเป็นจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกต ขณะที่ตากระทบรูปให้มากขึ้น เป็นต้น
ในส่วนตัวสภาวะของราคะเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้อยู่นั้น
มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นทันที คือระดับความเข้มของราคะจะไม่คงที่
มันตั้งอยู่ไม่นาน เมื่อหมดกำลังเพราะเราไม่ได้หาเหตุใหม่มาเพิ่มให้มัน (ย้อนไปมองสาว)
มันก็ดับไป แสดงถึงความเป็นทุกข์ของมัน
และมันจะเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งอยู่ก็ตาม ดับไปก็ตาม
ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้เป็น
นอกจากนี้ มันยังเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา
เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นอนัตตาของสภาวะราคะทั้งสิ้น
ผลของการดูจิต และข้อสรุป
จิตที่อบรมปัญญามากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจิต เจตสิก กระทั่งรูป ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น
ถ้าจิตเข้าไปอยาก เข้าไปยึด จิตจะต้องเป็นทุกข์
ปัญญาเช่นนี้แหละ จะทำให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูลง
ความทุกข์ก็จะเบาบางลงจากจิต เพราะจิตฉลาด
ไม่ไปส่ายแส่หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง
(แต่ลำพังคิดๆ เอา ในเรื่องความไม่มีตัวกูของกู
ย่อมไม่สามารถดับ ความเห็นและความยึด ว่าจิตเป็นตัวกูของกูได้
จะทำได้ก็แค่ "กู ไม่ใช่ตัวกูของกู" คือจิตยังยึดอยู่
ส่วนการที่จะลดละได้จริง ต้องเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เท่านั้นครับ)
สรุปแล้ว การดูจิตที่ชาวลานธรรมพูดถึงกันนั้น ไม่ใช่การดูจิตจริงๆ
เพราะจิตนั้นแหละ คือผู้รู้ ผู้ดู ผู้ยึดถือ อารมณ์
แต่การดูจิต หมายถึงการเจริญวิปัสสนา โดยเริ่มต้นจากการรู้นามธรรม
ซึ่งเมื่อชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้ครบสติปัฏฐานทั้งสี่นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าไม่ชอบคำว่า ดูจิต ซึ่งนักปฏิบัติส่วนหนึ่งชอบใช้คำนี้เพราะรู้เรื่องกันเอง
จะใช้คำว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ครับ
แต่การที่นักปฏิบัติบางส่วนชอบพูดถึงคำว่า "การดูจิต" ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน
คือเป็นการเน้นให้ทราบว่า จิตใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
และเป็นการกระตุ้นเตือนให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของจิตเมื่อมันไปรู้อารมณ์เข้า
เพราะถ้ารู้จิตชัด ก็จะรู้รูปชัด รู้เวทนาชัด รู้กิเลสตัณหาชัดไปด้วย
เนื่องจากจิตจะตั้งมั่น และเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ในทางกลับกัน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
แม้จะพยายามไปรู้ปรมัตถ์ ก็ไม่สามารถจะรู้ปรมัตถ์ตัวจริงได้
นอกจากจะเป็นเพียงการคิดถึงปรมัตถ์เท่านั้น
อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่าการดูจิตนั้น แม้จะเริ่มจากการรู้นามธรรมก็จริง
แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง 4 อย่าง
โดยจิตจะมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง
เพียงก้าวเดินก้าวเดียว ก็เกิดการเจริญสติปัฏฐานได้ตั้งหลายอย่างแล้ว
คือเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็จะรู้รูป ได้แก่ธาตุดินคือความแข็งภายในกาย (รูปภายใน)
และธาตุดินคือความแข็งของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป (รูปภายนอก)
อันนี้ก็คือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว
และรู้ถึงความเย็น ความร้อนคือธาตุไฟของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป เป็นต้น
ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าสติรู้เข้าไปที่ความรู้สึกอันเกิดจากการที่เท้ากระทบพื้น
เช่นความเจ็บเท้า ความสบายเท้า
ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว
ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าพื้นขรุขระ เจ็บเท้า ก็สังเกตเห็นความขัดใจ ไม่ชอบใจ
หรือถ้าเหยียบไปบนพรมนุ่มๆ สบายๆ เท้า ก็สังเกตเห็นความพอใจ
อันนี้ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว
ขณะที่เหยียบนั้น ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็จะเห็นกายเป็นส่วนหนึ่ง
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่ละส่วนๆ
หรือรู้ถึงความทะยานอยากของจิตที่ส่งหลงเข้าไปที่เท้า
หรือรู้อาการส่งส่ายของจิต ตามแรงผลักของตัณหาคือความอยาก
แล้วหนีไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หรือรู้ถึงความเป็นตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในจิต
หรือรู้ถึงนิวรณ์ที่กำลังปรากฏขึ้น แต่ยังไม่พัฒนาไปเป็นกิเลสเข้ามาครอบงำจิต
หรือรู้ชัดถึงความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร มีปีติ มีความสงบระงับฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น
การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป
เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก
มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น
--ตัดตอนมาจาก http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/001773.htm ผู้เขียน: สันตินันท์ (หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช)