วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะสำคัญของงานวิจัย

งานวิจัยต้องก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ (contribution) ทั้งในฝั่งของโลกวิจัยและโลกอุตสาหกรรม มิเช่นนั้นถือเป็นการลอกเลียน(แบบตั้งใจหรือโดยบังเอิญ)งานวิจัยอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง งานวิจัยต้องมีปัญหาวิจัย(ปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครในโลกแก้ไขจนสำเร็จหรือได้ผลเป็นที่พอใจ) 

1.งานวิจัยบนพื้นที่ปัญหาเดิม
งานวิจัยอาจไปแก้ปัญหาของมนุษย์ปัญหาเดียวกันกับที่งานวิจัยอื่นเคยเสนอวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว แต่เป็นการเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่าวิธีเดิม(หรือแย่กว่าเดิม) โดยการเปรียบเทียบผลลัพธ์กับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ว่าดีกว่าหรือแย่กว่าจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ความท้าทายของงานวิจัยแบบแรกนี้คือการค้นหาจุดอ่อนของงานวิจัยอื่น(เช่น ช้า ใช้ทรัพยากรมาก ผลลัพธ์มีคุณภาพต่ำ เช่น ความถูกต้องแม่นยำต่ำ) เพื่อนำมาเป็นปัญหาวิจัยซึ่งถ้าได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ก็จะเกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าผลลัพธ์แย่กว่าก็จะเกิดองค์ความรู้ที่ป้องกันคนอื่นทำผิดซ้ำๆกับเราได้ อีกความท้าทายคือการพัฒนาให้ดีกว่าวิธีที่มีอยู่เดิม
การทำวิจัยแข่งกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ(นั่นคือผลจากการวิจัยที่ประสบความสำเร็จในระดับของการนำไปใช้งานจริงแล้ว)ที่มีอยู่ในตลาดจำเป็นต้องนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโลกมาเป็นคู่เทียบ (benchmark) ในสภาพแวดล้อมของการทดลองที่ยุติธรรม (ถ้าไม่ได้นำผลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโลกมาเปรียบเทียบก็จะเคลมไม่ได้ว่าเกิดองค์ความรู้ใหม่หรือไม่) ซึ่งอาจทดสอบกับคู่เทียบแบบ black box คือใส่ input data set ชุดเดียวกับของเรา และดูผลลัพธ์ อีกวิธีคือไป review หาจุดอ่อนในวิธีการที่คู่เทียบใช้เพื่อนำมาปรับปรุงในวิธีใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแน่ๆ แต่วิธีนี้ทำได้ยากเพราะอาจเป็นความลับไม่ถูกเปิดเผย ความท้าทายของการทำวิจัยแข่งกับตลาดคือจะชนะได้ยากหรือถ้าชนะได้ก็โดนแซงหน้าชนะอย่างรวดเร็ว หากผลการวิจัยเสมอกับผลิตภัณฑ์หรือบริการในตลาดแต่ของเรามีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าแบบนี้ไม่ถือว่าเกิดองค์ความรู้ใหม่ มีแต่เพียง merit ซึ่งพ่ายแพ้ได้โดยง่ายหากผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นให้ใช้ฟรี 

2.งานวิจัยบุกเบิกพื้นที่ปัญหาใหม่
คืองานวิจัยไปแก้ปัญหาของมนุษย์ปัญหาใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครมาทำวิจัยแก้ปัญหามาก่อน (open up the new field of research) ปัญหานั้นถือเป็นปัญหาวิจัยได้เลยซึ่งอาจอยู่คนละสาขาวิชา(เช่นสาขามนุษยศาสตร์)กับวิธีแก้ปัญหาที่เสนอ(ซึ่งอาจอยู่ในสาขาไอที) จึงเกิดองค์ความรู้ใหม่อย่างแน่นอน ความท้าทายของงานวิจัยแบบนี้คือค้นหาวิธีการใหม่โดยไม่มีตัวอย่างที่ใกล้เคียงให้เรียนรู้

สรุปว่าถ้ามีคู่เทียบ ต้องนำมาเทียบ ถ้าเห็นรายละเอียดภายในของคู่เทียบ ก็สามารถชี้จุดอ่อนได้ เช่น ซับซ้อนกว่า แต่ถ้าไม่เห็นภายใน จะต้องเทียบแบบ blackbox คือใช้ input data set เดียวกันและวัด output เปรียบเทียบกัน เช่น วัดสมรรถนะ

หัวข้อวิจัยแนวมุ่งเน้น practical contribution จะกว้างและตื้น เช่นพัฒนาระบบ fuzzy control สำหรับคุมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงเป็ด เหมาะกับการขอทุนวิจัยตามยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติ เช่น วช.

หัวข้อวิจัยแนวมุ่งเน้น theoretical contribution จะแคบแต่ลึกเหมาะกับการตรพิมพ์ในวารสารคุณภาพสูง และการขอทุนวิจัยที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ เช่น สกว.