หลักนิติศาสตร์ คือ หลักที่ว่าด้วยกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ นำมาใช้เมื่อเกิดความไม่สงบ หรือนำมาใช้ในการตัดสินการกระทำความผิดของบุคคลในรัฐาธิปัตย์ หลักนิติศาสตร์ เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะมีตัวบทกฎหมาย อันได้ชื่อว่าเป็นกฎ รองรับอยู่ จึงเป็นการบังคับแบบตรงไปตรงมาตามตัวบทกฎหมาย
หลักรัฐศาสตร์ คือ หลักการปกครองบ้านเมือง และประชาชนในรัฐาธิปัตย์ให้อยู่ได้อย่างสงบสุข เป็นหลักที่ต้องอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง เช่นการเจรจาแทนที่จะจับกุมทันที ต่างจากหลักนิติศาสตร์ ที่อาศัยอุเบกขา ความเป็นกลางเป็นที่ตั้ง การแก้ปัญหาโดยหลักรัฐศาสตร์จึงหมายถึงการพยายามแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายมีความพอใจ และให้ความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองยุติลงโดยให้บุคคลและสังคมเสียหายน้อยที่สุด การแก้ปัญหาเยี่ยงนี้อาจจะนำไปสู่ความสงบสุขและความยุติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของลายลักษณ์อักษรและหลักการกฎหมาย ในบางครั้งอาจจะเป็นการละเมิดความถูกต้องแต่ก็เป็นการละเมิดที่นำไปสู่ผลประโยชน์โดยรวม เมื่อศาลวินิจฉัยด้วยหลักรัฐศาสตร์จะได้ยินวลีว่า"ศาลเห็นสมควรให้..."
เช่นคดีซุกหุ้นหนึ่ง ถามว่าถ้าพูดถึงตัวบทกฎหมายแล้ว ผิดหรือไม่ ผิดแน่นอน ถ้าใช้หลักนิติศาสตร์ ฟันโทษลงไปเลย แต่ในขณะนั้น ศาลใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์ โดยมองว่า หากลงโทษตามหลักนิติศาสตร์แล้วบ้านเมืองจะเสียหาย จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก ศาลจึงใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการใช้หลักรัฐศาสตร์อย่างฟุ่มเฟือยจะเป็นผลเสียหรือการสร้างศรีธนชัยให้เกิดขึ้นอย่างมากมายในบ้านเมือง
อีกตัวอย่างคือ การจลาจลที่เกิดขึ้นนั้นทุกคนมีความผิด แต่ถ้าจะต้องมีการลงโทษตามตัวบทกฎหมายก็จะไม่มีวันสิ้นสุดและมีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเสียหายยิ่งขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์ด้วยการให้ทุกอย่างจบสิ้นลง ทั้งๆ ที่หลายอย่างที่กระทำนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ คำสั่ง 66/2523 และ 65/2525 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามามอบตัวนั้น เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหา เท่ากับเป็นการยกเว้นความผิดทั้งหมด และในการนี้เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารซึ่งศาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย นี่คือการใช้หลักรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่ผลบวก