วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๔ มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ

ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายประโยชน์ของกันและกัน ด้วยการพูด คือ ตัดประโยชน์ทางวาจา และรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น เมื่อเพ่งความเจริญเป็นใหญ่ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้ามเป็นข้อใหญ่ ๓ ประการ คือ ๑. มุสาวาท     ๒. อนุโลมุสา   ๓. ปฏิสสวะ การกระทำตามข้อ ๑ ศีลขาด กระทำตามข้อ ๒ และ ๓ ศีลด่างพร้อย

มุสาวาท
การพูดเท็จ คือ การโกหก หมายถึง การแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริง ให้คนหลงเชื่อแสดงออกได้ ๒ ทาง คือ
๑. ทางวาจา ได้แก่ พูดโกหกชัด ๆ
๒. ทางกาย ทำเท็จทางกาย เช่น เขียนจดหมาย โกหก ทำรายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม หรือ มีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่งศีรษะแสดงปฏิเสธ
เพื่อความสะดวกในการเรียน และการปฏิบัติ ท่านจำแนกกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ อย่าง คือ
๑. ปด ได้แก่ พูดมุสาชัดๆ ไม่อาศัย ไม่อาศัยมูลเหตุเลย เช่น เห็นว่าไม่เห็น รู้ว่าไม่รู้ โดยโวหารต่างกัน ตามความมุ่งหมายของผู้พูด ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ๔ ข้อ คือ
ก. พูดเพื่อจะให้เขาแตกกัน เรียกว่า ส่อเสียด
ข. พูดเพื่อจะโกงท่าน เรียกว่า หลอก
ค. พูดเพื่อจะยกย่อง ท่านเรียกว่า ยก
ง. พูดไว้แล้วไม่รับ เรียกว่า กลับคำ
๒. ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่า จะพูดตามจริง แต่ใจไม่ตั้งจริงตามนั้น มีพูดปดเป็นลำดับ บริวาร เช่น เป็นพยานทนสาบานไว้ แล้วเบิกความเท็จ เป็นต้น
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่มีจริง เช่น อวดรู้วิชาคงกระพัน ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบายหาลาภ
๔. มารยา  ได้แก่ กิริยาที่แสดงให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง หรือลวงให้เข้าใจผิด เช่น เป็นคนทุศีล ก็ทำท่าทางให้เขาเห็นว่ามีศีล เจ็บน้อยก็ครวญครางมาก
๕. ทำเลศ ได้แก่ พูดมุสาเล่นสำนวน เช่น เห็นคนวิ่งหนีเขามา เมื่อผู้ไล่มาถาม ไม่อยากจะให้เขาจับคนนั้นได้ แต่ไม่ต้องการให้ใครตราหน้าว่าเป็นคนพูดมุสา จึงย้ายไปยืนที่อื่น แล้วพูดว่าตั้งแต่มายืนที่นี่ ยังไม่เคยเห็นใครวิ่งมาเลย
๖. เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เรื่องมากพูดให้เหลือน้อย ปิดความบกพร่องของตน
โทษของมุสาวาท
บุคคลพูดมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกปรับโทษทางกฎหมายที่หักประโยชน์ของผู้อื่น ทางธรรมปรับโทษอย่างหนักถึงปาราชิก อย่างเบาปรับเสมอปาจิตตีย์ กล่าวโดยความเป็นกรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดย วัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าข้อความนั้นเป็นเรื่องหักล้างประโยชน์ เช่น ทนสาบาน เบิกพยานเท็จ กล่าวใส่ความท่าน หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน มีโทษหนัก หรือกล่าวมุสาแก่ผู้มีคุณ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เจ้านาย และท่านผู้มีศีลธรรม มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายท่าน เช่น กล่าวใส่ความท่าน มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำให้เขาเชื่อสำเร็จ มีโทษหนัก

อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่พูดนั้นไม่จริง แต่ผู้พูดมิได้มุ่งจะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ แยกประเภท ๒ อย่าง คือ
๑. เสียดแทง กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นให้เจ็บใจ อ้างวัตถุไม่เป็นจริง กล่าวยกให้สูงกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ประชด กล่าวทำให้คนเป็นคนเลวกว่าพื้นเพเดิมของเขา เรียกว่า ด่า
๒. สับปลับ ได้แก่ พูดปดด้วยคะนองวาจา
โทษของอนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกจัดว่าเป็นกิริยาที่หยาบช้าเลวทราม ไม่สมควรประพฤติ ทางธรรม จัดว่าเป็นบาป เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม ก็มีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา ประโยค
ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นข้อความเป็นเรื่องประทุษร้ายท่าน เช่น พูดเสียดแทง มีโทษหนัก และกว่าแก่ผู้มีคุณ ก็มีโทษหนัก
ข. โดยเจตนา ถ้าพูดใส่ร้ายผู้อื่น เช่น หวังจะให้ท่านเจ็บใจ และกล่าวเสียดแทง มีโทษหนัก
ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำความเสียหายแก่ท่านสำเร็จ เช่น ยุให้ท่านแตกกัน และเขาก็แตกกัน มีโทษหนัก

ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ ได้แก่ เดิมรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจ ไม่ทำตามที่รับนั้น แม้ไม่เป็นการพูดเท็จโดยตรง แต่ก็เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นได้ มีประเภทเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ผิดสัญญา  ได้แก่  สองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำอย่างนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำอย่างนั้น เช่น ทำสัญญาจ้าง เป็นต้น
๒. เสียสัตย์ ได้แก่ ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียวว่าตนจะทำ หรือไม่ทำเช่นนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำตามนั้น เช่น ข้าราชการ ผู้ถวายสัตย์สาบานแล้ว ไม่ทำตามนั้น
๓. คืนคำ ได้แก่ รับว่าจะทำสิ่งนั้นๆ แล้วภายหลังไม่ทำ เช่น รับว่าให้สิ่งนั้นๆ แล้วไม่ให้
โทษของปฏิสสวะ คือ ทำให้เสียชื่อเสียง ตามฐานที่ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์

ถ้อยคำที่ไม่เป็นมุสา
มีคำพูดอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้พูดๆ ไม่จริง แต่ก็ไม่ประสงค์ให้ผู้ฟังเชื่อ เรียกว่า ยถาสัญญา คือ พูดตามความสำคัญ ผู้พูดไม่ผิดศีล แยกประเภทเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียม เพื่อความไพเราะทางภาษา เช่น เราเขียนจดหมายลงท้ายด้วยความนับถืออย่างสูง ทั้งที่เราไม่ได้นับถือเขาเลย
๒. นิยาย ได้แก่ เรื่องเปรียบเทียบ เพื่อได้ใจความเป็นสุภาษิต เช่น ผูกนิยายขึ้น เช่น ลิเก ละคร
๓. สำคัญผิด ได้แก่ ผู้พูดเข้าใจผิด พูดไปตามความเข้าใจของตนเอง เช่น จำวันผิด ใครถามก็ตอบตามนั้น
๔. พลั้ง ได้แก่ ผู้พูดตั้งใจว่าจะพูดอย่างหนึ่ง แต่ปากไพล่ไปพูดอย่างหนึ่ง

หลักวินิจฉัยมุสาวาท มุสาวาทมีองค์ ๔
๑. อภูตวัตถุ   เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. วิวาทนจิตตัง จงใจจะพูดให้ผิด
๓. ตัชโช วายาโม  พยายามพูดคำนั้นออกไป
๔. ปะรัสสะ ตะทัตถวิชานะนัง คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น

หมายความว่า ศีลข้อที่ ๔ นี้จะขาด ต่อเมื่อการพูด หรือการทำเท็จ ครบองค์ทั้ง ๔ ดังต่อไปนี้
องค์ที่ ๑ ที่ว่าเรื่องไม่จริง คือเรื่องที่พูดนั้นไม่มีจริง ไม่เป็นจริง เช่นฝนไม่ตกเลย แต่เราบอกว่าฝนตก อย่างนี้เรียกว่าเรื่องไม่มีจริง หรือฝนตก แต่เราพูดว่าฝนไม่ตก อย่างนี้ก็ เรียกว่า เรื่องไม่มีจริง เพราะเรื่องฝนไม่ตก ไม่มีจริง เรื่องที่จริงนั้นก็คือเรื่องฝนตก
องค์ที่ ๒ จิตคิดจะพูดให้ผิด คือมีเจตนาจะพูดบิดเบือนความจริงเสีย ถ้าพูดโดยไม่ เจตนาจะพูดให้ผิด ศีลไม่ขาด
องค์ที่ ๓ พยายามพูดออกไป คือได้กระทำการเท็จด้วยเจตนานั้น ไม่ใช่เพียงแต่คิดเฉยๆ
องค์ที่ ๔ คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คำว่า "ผู้อื่น"ในที่นี้ หมายถึง คนที่เราต้องการจะโกหก ถ้าผู้อื่นเข้าใจคำที่เราพูดนั้น เป็นศีลขาด ส่วนที่ว่า เขาจะเชื่อหรือไม่นั้น ไม่ถือเป็นสำคัญ ถ้าพูดไปแล้ว เขาไม่เข้าใจ เช่น เราโกหกเป็นภาษาไทย ให้ฝรั่งฟังเขาไม่รู้ภาษา ศีลไม่ขาด

====
ถาม
มุสาวาทมีโทษมาก มีโทษน้อย เพราะเหตุไร
ตอบ
มีโทษมาก เพราะเหตุดังนี้
๑. เพราะประโยชน์ที่หักรานมาก
๒. เพราะผู้ที่ถูกหักรานประโยชน์มีคุณมาก
๓. เพราะกิเลสแรงกล้า
๔. เพราะเป็นพยานกล่าวเท็จหักรานประโยชน์
๕. เพราะตนมิได้เห็นแกล้งกล่าวว่าเห็น
๖. เพราะความพยายามกล้า
มีโทษน้อย เพราะเหตุดังนี้
๑. เพราะประโยชน์ที่หักรานน้อย
๒. เพราะผู้ที่ถูกหักรานประโยชน์มีคุณน้อย
๓. เพราะความพยายามน้อย
๔. เพราะกิเลสอ่อน

ถาม
ความแตกต่างกันในระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เกี่ยวกับเรื่องมุสาวาทนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ
เป็นอย่างนี้คือ
ก. สำหรับพวก คฤหัสถ์ พูดมุสาวาทว่า "ไม่มี" เพราะไม่ประสงค์จะให้ของๆ ตน มีโทษน้อย
ข. สำหรับพวก บรรพชิต กล่าวเพื่อให้หัวเราะ เช่น ได้น้ำมันและเนยใสน้อย พูดว่า
 "วันนี้น้ำมันกับเนยใสในบ้านไหลดุจแม่น้ำ" มีโทษน้อย

ถาม
ถ้าบุคคลรักษาศีลข้อมุสาวาทนี้ได้ดี จะมีอานิสงส์ เป็นประการใดบ้าง
ตอบ
มีอานิสงส์อย่างนี้ คือ
๑. มีอินทรีย์ผ่องใส
๒. กล่าวถ้อยคำสละสลวยอ่อนหวานนิ่มนวล
๓. มีฟันเรียบเสมอดี
๔. ไม่อ้วนเกินไป
๕. ไม่ผอมเกินไป
๖. ไม่เตี้ยเกินไป
๗. ไม่สูงเกินไป
๘. มีสัมผัสเป็นสุข
๙. มีกลิ่นปากหอมดุจกลิ่นดอกอุบล
๑๐. ไม่มีคนริษยาลูกสะใภ้
๑๑. พูดแต่คำที่ควรพูด
๑๒. มีลิ้นอ่อนเช่นกับกลีบกมล อุบล และมีลิ้นมีโลหิต ซึมซาบเป็นอย่างดี
๑๓. ไม่ฟุ้งซ่าน
๑๔. มีคนรักใคร่พอใจ

====

ศีลขาด
คือ เจตนากล่าวคำเท็จ โกหก หลอกลวง บิดเบือนไปจากความจริง หรือสัจจะ

ศีลทะลุ
คือ เจตนากล่าววาจา ระบายโทสะ บำเรอโลภะ บำรุงราคะ เป็นคำหยาบ

ศีลด่าง
คือ มีวาจาส่อไปในทางเสียด เสียดสีเชิงโทสะบ้าง เสียดสีเชิงโลภะบ้าง เสียดสีเชิงราคะบ้าง เสียดสีเชิงมานะทิฏฐิบ้าง เสียดสีเชิงมานะอัตตาบ้าง แม้จางบางเบา หรือพูดกับคนโน้นทีคนนี้ที เพื่อให้เกิดวิวาทบาดหมาง แยกก๊ก แบ่งเหล่า ก็จัดเข้าอยู่นัยนี้ เป็นวาจาส่อเสียด การนินทาให้ร้ายผู้อื่นก็จัดเป็นการส่อเสียด

ศีลพร้อย
คือ มีวาจาเรื่อยเปื่อยเฉื่อยฉ่ำไป เพ้อไป พล่อยไป พล่ามไป จะโดยแรงเร้าจากโทสะที่จากบางเบา โลภะที่จางบางเบา ราคะที่จางบางเบา หรือมานะทิฏฐิที่จางบางเบา มานะอัตตาที่จางบางเบา ก็จัดเข้าอยู่นัยนี้ เป็นวาจาเพ้อเจ้อ

เป็นไทโดยศีล
ขัดเกลาตนจนอิสระเสรี มีวาจาประชาสัมพันธ์ เป็นไปโดยสามารถของตนไร้อิทธิพลจากโทสะ โลภะ ราคะ มานะทิฏฐิ มานะอัตตามาครอบงำ หรือไม่มีความพร้อย ความด่าง ความทะลุ หรือขาดทางศีลธรรม โดยเฉพาะเรื่องราว ลดมิจฉาสู่สัมมา หรือลดมุสา (วาจาอันเป็นเท็จจากสัจจะ) พัฒนาสัจจวาจา