1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
คือ กฎหมายสูงสุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งจะวางระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐ
หรืออำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตลอดจนการกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย
2. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เป็นกฎหมายหลักที่สำคัญ
ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติที่สำคัญที่รัฐสภาตราออกมาใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เป็นต้น
3. ประมวลกฎหมาย
คือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้นโดยรวบรวมจัดเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่
เป็นเรื่องเดียวกันเอามารวบรวมเป็นหมวดหมู่ วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกันและมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร เป็นต้น
ประมวลกฎหมายมีฐานะเท่าเทียมกับพระราชบัญญัติ
4. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การตราพระราชกำหนดให้
กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องเป็นกรณีเพื่อจะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินและเมื่อได้ประกาศใช้แล้วต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภาทันทีถ้ารัฐอนุมัติก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติก็ตกไป แต่ถ้าไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น การประกาศใช้พระราชกำหนดให้ประกาศในราช-กิจจานุเบกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
5. พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ)
คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาจะออกได้
ต่อเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาจึงเป็นเสมือนกฎหมายที่ไม่สามารถจะออกมาให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก พระราชกฤษฎีกานั้นก็ถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
6. กฎกระทรวง
คือ กฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายแม่บทออกมาเพื่อดำเนินการให้
เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ กฎกระทรวงจึงเป็นกฎหมายบริวารที่กำหนดรายละเอียดของกฎหมายแม่บทอีกต่อหนึ่ง กฎกระทรวงจะออกมาขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทไม่ได้และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก กฎกระทรวงนั้นถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย คณะรัฐมนตรีเป็นอนุมัติกฎกระทรวง การประกาศใช้กฎกระทรวงให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
7. ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่ง
คือ กฎหมายปลีกย่อยประเภทที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบการปฏิบัติราชการ
ภายในและการที่จะนำกฎหมายปลีกย่อยเหล่านี้ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าในกฎหมายไม่ได้กำหนดเช่นนั้นก็อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจว่าการจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ซึ่งประกาศ ระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งเหล่านั้นก็เป็นกฎหมายได้เช่นกัน
8. กฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง
ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา ข้อบัญญัติจังหวัด เทศบัญญัติ และข้อบังคับ
สุขาภิบาล เป็นกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองตนเองอันเป็นการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีอำนาจออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น