--วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ หน้าที่ ๑๖๑ - ๑๖๕
ข้าศึกของเมตตา
ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองในแง่ที่เป็นคุณด้วยกัน เหมือนศัตรูของบุรุษที่อยู่ใกล้ชิด ฉะนั้น ราคะนั้นย่อมได้ช่องโอกาสเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องคอยช่วงชิงกันเมตตาจากราคะไว้ให้จงดี
พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของเมตตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน เหมือนศัตรูของบุรุษซึ่งซุ่มอยู่ในที่รกชัฏแห่งภูเขา ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญเมตตาภาวนา โดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่พยาบาทนั้น แต่ที่จักเจริญเมตตากรรมฐานด้วย จักทำพยาบาทโกรธเคืองด้วย ในขณะเดียวกัน ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
ข้าศึกของกรุณา
โทมนัส ความเสียใจอันอาศัยกามคุณเป็นข้าศึกใกล้ของกรุณาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยมองในแง่วิบัติของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน โทมนัสอาศัยกามคุณมาในบาลี มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เมื่อบุคคลละห้อยใจถึงสิ่งที่ไม่ได้มาโดยสมหวัง คือ รูปที่เห็นด้วยตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าเจริญใจ น่ารื่นรมย์ ซึ่งอิงอาศัยตัณหาก็ดี เมื่อคิดทอดถอนใจในสิ่งที่เคยได้มาแล้วในก่อน ซึ่งล่วงเลยไปเสียแล้ว ดับสูญไปเสียแล้ว เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้วก็ดี โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้นโทมนัสเห็นปานฉะนี้นั้นเรียกว่า โทมนัสอาศัยกามคุณ
วิหิงสา เป็นข้าศึกไกลของกรุณาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุฉะนี้ ผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญกรุณากรรมฐานโดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่วิหิงสานั้น แต่ที่จักเจริญกรุณาด้วย จักเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือเป็นต้นด้วยในขณะเดียวกัน มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้
ข้าศึกของมุทิตา
โสมนัส ความดีใจอาศัยกามคุณเป็นข้าศึกใกล้ของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้ โดยมองในแง่สมบัติสมบูรณ์ของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน โสมนัสอาศัยกามคุณมาในบาลีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เมื่อบุคคลพิจารณารำพึงถึงสิ่งที่ได้มาโดยสมหวังคือรูปที่เห็นด้วยตา อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าเจริญใจน่ารื่นรมย์ ซึ่งอิงอาศัยตัณหาก็ดี หรือนึกรำพึงถึงสิ่งที่เคยได้มาแล้วในก่อน ซึ่งล่วงเลยไปแล้ว ดับสูญไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ดี โสมนัสย่อมเกิดขึ้น โสมนัสเห็นปานฉะนี้ นั้น เรียกว่า โสมนัสอาศัยกามคุณ
อรติ ความไม่ไยดี(หรือแม้แต่ริษยา)เป็นข้าศึกไกลของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุดังนี้ ผู้ปฏิบัติจึงจำต้องเจริญมุทิตากรรมฐานโดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่อรตินั้น ก็แหละ จักยินดีด้วยจักเบื่อหน่ายในเสนาสนะอันสงัดหรือในกุศลธรรมอันยิ่งด้วยในขณะเดียวกัน ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้
ข้าศึกของอุเบกขา
อัญญานุเบกขา ความเพิกเฉยเพราะความไม่รู้อาศัยกามคุณ เป็นข้าศึกใกล้ของ อุเบกขาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันได้โดยไม่พิจารณาถึงโทษและคุณเหมือนกัน อัญญานุเบกขาอาศัยกามคุณ มาในบาลีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีอาทิว่า : -
เพราะเห็นรูปด้วยตา อุเบกขาความเพิกเฉยย่อมเกิดแก่ปุถุชน ผู้ยังเขลา ยังหลง ยังชนะกิเลสไม่ได้เป็นส่วน ๆ ยังไม่ชนะวิบากกรรม ยังมองไม่เห็นโทษ ศึกษายังไม่ถึงขีด ยังเป็นอันธปุถุชน อุเบกขาชนิดนี้นั้นยังไม่ล่วงพ้นกิเลสซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ฉะนั้น อุเบกขานี้จึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยกามคุณ
ราคะ ความกำหนัด ปฏิฆะ ความขัดเคือง เป็นข้าศึกไกลของอุเบกขาพรหมวิหาร เพราะมีส่วนเข้ากันไม่ได้โดยส่วนของตน ด้วยเหตุดังนั้น ผู้ปฏิบัติจำต้องเพ่งเฉย โดยไม่ต้องเกรงกลัวแต่ราคะและปฏิฆะนั้น แต่ก็จักเพ่งเฉยด้วยจักกำหนัดหรือขัดเคืองกัน ในขณะเดียวกันด้วย ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะพึงทำได้