วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

คำย่อต่างๆในภาษาอังกฤษที่ควรรู้ --oknation.net

ในภาษาอังกฤษ มีคำย่อที่ใช้กันเป็นประจำ อยู่หลายคำในข่าวสารต่างๆ ผมคิดว่าอาจจะเป็นปัญหา กับนักเรียนนักศึกษา หรือใครก็ตาม ที่กำลังเรียนรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในขณะนี้ ผมเลยเอาคำย่อต่างๆมากล่าวถึง คำย่อเหล่านี้ ช่วยให้การเขียนหนังสือ และการอ้างอิงในเอกสารทางวิชาการ กระชับขึ้นเช่น

a.k.a. ซึ่งย่อมาจาก also known as ที่ใช้กับชื่อคนในการรายงานข่าว เช่น One of Thailand’s top models, Patcharapha Chaichuea a.k.a Aum Patcharapa, appears to be most admired by readers of the FHM magazine. อักษรย่อนี้ จะไม่ใส่จุด (period) โดยเขียนว่า aka ก็ได้ ครับ
   

e.g. หรือ eg เป็นอักษรย่อ ของ คำภาษาละติน exampli gratia แปลว่า for example หรือ “ดังตามตัวอย่างดังนี้” หรือ “ดังนี้” หรือ“อทิเช่น” เราใช้ในรูปประโยคแบบนี้ ครับ Car sales in Thailand continues to show strong domination by leading Japanese brands e.g. Toyota, Honda and Nissan.

i.e. หรือ ie เป็นคำย่อของคำ ละติน id est แปลว่า that is (to say) หรือในภาษาไทย “นั่นคือ”

The country north of the US border i.e. Canada was once colonized by Britain and France.

Ibid เป็นคำย่อ ibidem ศัพท์ละติน ที่แปลว่า .”ในที่เดียวกัน” ถ้าในครั้งแรกเราอ้างถึงหนังสือ เอกสาร บทความใดๆก็ตาม โดยได้ระบุชื่อหนังสือ สารคดี บทความนั้น พร้อมกับชื่อ ผู้แต่ง สำนักพิมพ์ และข้อมูลอื่นๆใว้เป็นเชิงอรรถแล้ว เราก็สามารถใช้คำย่อ ibid แทนเป็นเชิงอรรถได้ โดยไม่ต้องอ้างอิงข้อมูลเหล่านั้นซ้ำอีกให้ยุ่งยาก

ZIP คำย่อนี้ ถ้าอยู่ในเอกสารระบุที่อยู่ในสหรัฐฯ หมายถึง Zone Improvement Plan ของกิจการไปรษณีย์สหรัฐฯ ที่ระบุไว้เป็นรหัสตัวเลข บางประเทศอย่างประเทศไทย ใช้คำว่า Postcode หรือ postal code คือ รหัสไปรษณีย์ที่เป็นตัวเลข ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ (zone)

Plc คำย่อนี้มาจาก Public limited company แปลว่า “บริษัทมหาชนจำกัด” ใช้กันอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่คนไทยจะใช้ PCL กัน เพราะย่อมาจาก Public Company Limited ซึ่ง จริงๆแล้ว เป็นการใช้ที่ ผิดไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เพื่อความเข้าใจ ผมต้องขออธิบายดังนี้ครับ

คนไทยคุ้นกับคำย่อ Co., Ltd. ที่มาจาก company limited มานานแล้ว สมัยก่อนหน้ามี “พ.ร.บ. บริษัทมหาชน” โดยปรกติเราจะเขียนชื่อบริษัท เป็นภาษาไทยโดยขึ้นต้นว่า "บริษัท" แล้วตามด้วยชื่อ เช่น บริษัท ค้าข้าว จำกัด โดยในภาษาอังกฤษ เราอาจจะใช้ว่า Rice Trading Co., Ltd. พอภายหลังจดทะเบียนใหม่เป็นบริษัทมหาชน ก็เลยเพิ่มคำว่า "มหาชน" ไว้ข้างหลังชื่อบริษัท ก็เลยเป็น ชื่อใหม่ว่า บริษัท ค้าข้าวมหาชน จำกัด .ในภาษาอังกฤษก็ทำกันง่ายๆ ด้วยวิธืเพิ่มตัว P เข้าไปแทน คำว่า “มหาชน” แต่ยังเอา LTD. ไว้ที่เดิม โดยหารู้ไม่ว่าผิดไวยากรณ์

ในภาษาอังกฤษนั้น company เป็นคำนามหลัก อะไรที่นำมาเพิ่มเพื่อขยายความคำนี้ ถือเป็นคำวิเศษณ์ (adjective) ที่ต้องอยู่หน้าคำนามเสมอ ทั้ง public และ limited เป็น adj ทั้งคู่ ถ้าใช้คำย่อ PCL เมื่อเขียนโดยไม่ใช้คำย่อ ก็คงต้องเขียนว่า Public Company Limited ซึ่งไม่ถูกไวยากรณ์ เพราะ Limited ไปอยู่หลังคำนาม ผมว่า ฝรั่งอ่านคำย่อแล้วคงจะงงๆ

การใช้ Plc ซึ่งเป็นคำย่อของ Public Limited Company แบบอังกฤษนั้น ถูกไวยากรณ์แน่นอน แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนคงยาก นอกจาก กระทรวงพาณิชย์ จะทำคำสั่ง หรือ กฎกระทรวงออกมา ผมสงสัยเรื่องนี้เลยเข้าไปดูใน website ของกรมพัฒนาธุรกิจ ก็พบว่า ในประกาศเรื่องการจดทะเบียนบริษัทมหาชน เป็นภาษาอังกฤษใช้ public limited company อย่างถูกต้อง ครับ ผมก็โล่งอกไป

LP เป็นคำย่อของ limited partnership หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด คำย่อที่ใช้กัน คือ หหจ

ROP เป็นคำย่อของ Registered Ordinary Partnership ความหมายเต็มๆ คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนแล้ว แต่มันยืดยาดมาก ทางราชการจึงกำหนดให้ใช้ แค่ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ คำ ย่อ “หสน

Pty เป็นคำย่อของ proprietary ที่ใช้กันในประเทศอ๊อสเตรเลีย ในความหมายว่าเป็นบริษัทเอกชน โดยต่อท้ายด้วย Ltd. การจดทะเบียนทำได้ง่ายมากแค่ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม แล้วส่งไปทางออนไลน์ให้สำนักงานจดทะเบียนการค้า เสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบ แค่สองชั่วโมง ก็เสร็จเรียบร้อยถ้าใช้บริการของสำนักงานกฎหมายและบัญชี

Pte เป็นคำย่อของ คำว่า Private ใช้กันในประเทศสิงค์โปร์โดยเฉพาะ สำหรับต่อท้ายชื่อบริษัทเอกชน พร้อมกับ Ltd คำย่อของ Limited. เป็น Pte Ltd. เช่น Singapura Pte, Ltd.

GmbH เป็นคำย่อของศัพท์ภาษาเยอร์มัน (Gesellschaft mit beschränkter Haftung) อ่านว่า เกเซลชัฟท์ มิต เบสชะแร้นคะต้า ฮัฟตุง) แปลตรงตัว เป็นภาษาอังกฤษ ได้ว่า company with limited liability แยกคำแปลได้ดังนี้ ครับ gesellschaft = company mit = with beschränkter = limited, Haftung = liability ความหมายจริงตามศัพท์ คือ บริษัทเอกชนทุนจำกัด (private limited liability company) ระวัง นะครับ มีบาง website ที่มีบริการ weblog บอกกันว่า เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งผิดถนัด ครับ โปรดสังเกตด้วยว่า ภาษาเยอร์มันไม่ใช้ คำว่า เอกชน หรือ private เหมือนในภาษาอังกฤษ เพราะ company ในความหมายเดิม คือ “เพื่อน” หรือ “สหาย” อย่างในประโยคนี้ ครับ “I saw Linda at the shopping mall. So I kept her company while she went around for window shopping. (ผมพบลินดาที่ ศูนย์การค้า เลยอยู่เป็นเพื่อนเธอเดินดูของตามตู้โชว์) ในประเทศอังกฤษนั้น สมัยก่อนชื่อห้างร้านเอกชน มักจะใช้ชื่อเจ้าของร้านเป็นหลัก เช่น “Robert Stevens & sons” หรือ “Winston & Co. อย่างในเมืองไทยเราก็มี ห้างขายยาหมอมี ห้างบีกริมแอนด์โก (B. Grimm & Co.) แต่คนไทยและคนจีน ส่วนมากนิยมตั้งชื่อร้านที่หมายถึงสิ่งที่เป็นศิริมงคล ความรุ่งเรือง ความเจริญ ความสวยงามมากกว่าใช้ชื่อ่เจ้าของร้าน หรือไม่ก็ใช้ชื่อสะพาน ชื่อถนน ชื่อท้องถิ่นมาประสมกับลักษณะการค้าของตน อย่างเช่น บริษัทเทวกรรมโอสถ ที่เชิงสะพาน เทวกรรม แถวนางเลิ้ง ในกรุงเทพฯ
AG เป็นคำย่อภาษาเยอร์มัน อีก แต่ย่อมาจาก Aktiengesellschaft ที่แปลว่า บริษัทมหาชน อ่านว่า “อักเตียนเกสเซลชัฟท์” ที่จริงคำนี้แปลตรงว่า “บริษัทที่แลกเปลี่ยนหุ้นได้” aktien แปลว่า หุ้น ตรงกับภาษาอังกฤษ ในคำว่า share, stock และ equity (ทุนเรือนหุ้นตามภาษาบัญชี) gesellschaft แปลว่า บริษัท หรือ สมาคม

AS เป็นคำย่อของคำว่า société anonyme ในภาษาฝรั่งเศส ใช้เป็นคำย่อต่อท้ายชื่อบริษัท ในประเทศฝรั่งเศส société แปลว่า บริษัท anonyme แปลว่าไม่มีชื่อ แปลกมั้ย ครับ ในสมัยก่อนบริษัทห้างร้านของเอกชนในยุโรป จะต้องตั้งชื่อห้างร้านของตนตามชื่อเจ้าของหรือหุ้นส่วน ต่อมาเกิดมีตลาดหุ้น และบริษัทมหาชนเกิดขึ้น ที่สามารถออกหุ้นมาซื้อขายกันได้ จึงมีกฎหมายห้ามใช้ชื่อบุคคลเป็นชื่อบริษัท โดยให้ใช้ชื่ออะไร ก็ได้ เช่นชื่อเมือง ชื่อตำบล ชื่อท้องถิ่น ที่ไม่เหมือนชื่อที่ทางราชการใช้อยู่ตามกฎหมาย แต่ก็มีการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้ ชื่อตัวผสมชื่อสินค้า เช่น Ford Motor Co.ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม บริษัทใหญ่ๆนั้น หุ้นส่วนดั้งเดิม ส่วนมากตายไปหมดแล้วเมื่อ แปลงตัวเองเป็นบริษัทมหาชน จึงสามารถใช้ชื่อผู้ก่อตั้งบริษัทมาเป็นชื่อบริษัทได้ เช่น บริษัท Renault S.A. ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของฝรั่งเศส หรือ บริษัท Daimler-Benz AG. ในประเทศเยอร์มันนี

NA คำย่อนี้มาจากภาษาดัทช์ naamloze vennootschap ออกเสียงว่า “นัมโลสเซ เวนนูซฉอบ”คำแรก แปลว่า ไม่มีนาม เหมือนกับ anonyme ในภาษาฝรั่งเศส ส่วน vennootschap แปลว่า “กิจการ” ตรงกับคำว่า venture ในภาษาอังกฤษ ความหมายทั้งหมด ก็คือ “บริษัทไร้นาม” ก้อ อย่างที่ผมได้อธิบายไว้แล้ว ก่อนหน้านี้

ในสหรัฐฯ ชื่อบริษัทที่ดำเนินกิจการเพื่อหากำไร มีข้อกำหนดแตกต่างกันไปแต่ละรัฐ แต่ชื่อบริษัทที่ทางการยอมให้ใช้ ต้องมีข้อความบ่งบอกประเภทของการจดทะเบียนด้วย โดยจะใช้เป็นตัวอักษรย่อโดยมีจุดหรือไม่มีจุดกำกับก็ได้ ที่ใช้กันทั่วไป คือ

Corp. = Corporation, Inc. = Incorporated, Co. = Company, Ltd. = Limited โดยบางรัฐ จะห้ามใช้ คำว่า and Company หรือ & Co. แต่ถ้าจะใช้เพียงชื่อ และต่อท้ายด้วย Limited หรือ Ltd เท่านั้นก็ได้ การจดทะเบียนบริษัททุนจำกัด ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อนำหุ้นมาซื้อขายกันในตลาดหุ้น ไม่ถูกบังคับให้ต้องบอกว่าเป็นบริษัทมหาชน แบบในประเทศอังกฤษ หรือ ประเทศอื่นๆในยุโรปและประเทศไทย ทั้งนี้เพราะ การจดทะเบียนเป็น Corporation บ่งบอกอยู่ในตัวตามกฎหมายว่า สามารถออกหุ้นมาจำหน่ายได้ ถ้าอยากออกหุ้นจำนวนมากเพื่อระดมทุนก้อนใหญ่มากๆ ก็ต้องไปจดทะเบียนกับตลาดหุ้นที่ใดที่หนึ่ง เช่นที่ New York Stock Exchange (NYSE) เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นชื่อบริษัทที่ต่อท้ายด้วย Corp. หรือ Inc.เราก็รู้เลยว่าเป็นบริษัทที่ออกหุ้นมาขายในตลาด อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นกันนั้น ไม่ได้ถูกบังคับให้ขายกันในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เราจะขายให้ใครนอกตลาดก็ได้ ถ้าเรามีใบหุ้นถืออยุ๋ในมือ การขายหุ้นนอกตลาด (off-exchange) ที่เรียกว่า OTC คำย่อของ Over-the-Counter คือ การขายหุ้นกันบนเคาน์เตอร์ แบบผู้ขายกับผู้ซื้อทำกันโดย ตรง แต่ในทางปฎิบัตินั้น จะอาศัยบริษัทหลักทรัพย์มาจัดการให้

นอกจากนี้ ยังมีคำย่อที่ใช้กับกิจการที่เป็นหุ้นส่วน อยู่หลายคำ เช่น LLP = Limited Liability Partnership, RLLP = Registered Limited Liability Partnership, PLLC = Professional Limited Liability Company

RSVP คำย่อของ "répondez s'il vous plaît" ในภาษาฝรั่งเศส โดยจะอยู่ในบัตรเชิญสำหรับงานสังคม หรือ พิธีการบางอย่าง ปรกติจะพิมพ์กันไว้ที่มุมล่างซ้ายของบัตร คำแปล คือ “Please respond” แต่คนไทยจะนิยมใช้ข้อความว่า “ขัดข้องโปรดตอบ” หรือ “ขัดข้อง โทร 02xxxxxxx” ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสกันเป็นธรรมเนียม เพราะเริ่มต้นมีข้อความนี้ ในประเทศฝรั่งเศสก่อน คนฝรั่งเศสนั้นมีความเคร่งครัดในเรื่องของมารยาททางสังคมมาก และชาติอื่นๆในยุโรป ก็มักเอาธรรมเนียมสังคมของชาวฝรั่งเศสไปใช้กัน

Anon. บางคนเห็นคำย่อนี้ท้ายบทกวีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง อาจจะงงว่ามันหมายความว่าอะไร คำย่อนี้มาจาก Anonymous แปลว่า “นิรนาม” คือ “ไม่มีชื่อ” ในความหมายว่า “ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประพันธ์” ซึ่งอาจจะเป็นบทกวีเก่าแก่โบร่ำโบราณมาก จนไม่มีใครทราบว่าใครประพันธ์ไว้ แต่ถ้าเราอยากจะเขียนกลอน หรือ บทกวีที่จะถูกนำไปตีพิมพ์ โดยไม่อยากบอกว่า เราเขียน ก็ใช้คำย่อนี้ได้

คราวนี้ ค่อนข้างจะยาวกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา จึงต้องจบลงแค่นี้ ครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย นะครับ