วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

Digital TV VS. Analog TV


ปัจจุบันนี้ คำว่า Digital TV ได้ถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ทำการออกแผนแม่บทวิทยุโทรทัศน์ โดยมี Digital TV เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก คำถามหลักๆ ก็คือ Digital TV คืออะไร มีความแตกต่างอย่างไรกับ Analog TV และจะมีผลกระทบกับรูปแบบของธุรกิจทีวีอย่างไร

Digital TV คือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอล สัญญาณภาพและเสียงในรูปแบบดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่า Analog โดยภาพและเสียงมีความคมชัดกว่ามาก อีกทั้งยังมีการถูกรบกวนในอัตราที่น้อยกว่า เช่น ภาพลาย ภาพล้ม ภาพเบี้ยว ที่พบเห็นในระบบทีวีในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งนอกจาก Digital TV จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า Analog ในด้านคุณภาพของสัญญาณแล้ว ยังถือว่าเป็นการใช้ความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระบบ Digital TV มีการส่งข้อมูลเป็น bit และสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบ Analog มีการผสมคลื่นแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) โดยในหนึ่งช่องสัญญาณ จะสามารถนำส่งไปยังหลายรายการโทรทัศน์ จึงเรียกได้อีกแบบหนึ่งว่า การแพร่กระจายคลื่นแบบหลากหลายรายการ (Multicasting) ในหนึ่งช่องสัญญาณ การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอลจึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าด้วย ยกตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV โดยทั่วไป Digital Television จะใช้สัญญาณ Digital ที่ถูกบีบอัด และเข้ารหัสซึ่งอาจเป็นรูปแบบ MPEG-๒ หรือ MPEG-๔ ส่งผลให้ในการรับชมนั้น จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัส ซึ่งอาจมีมาพร้อมกับตัวเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น โทรทัศน์รุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับระบบดิจิตอล หรือจะเป็นอุปกรณ์ถอดรหัสที่แยกกัน เช่น อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณที่เรียกว่า STB (Set Top Box) ซึ่งใช้ถอดรหัสสัญญาณ และป้อนให้กับเครื่องรับโทรทัศน์ Analog ที่มีใช้งานทั่วไป หากเป็นการรับชมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Personal Computer) จะสามารถใช้การ์ดรับสัญญาณที่สามารถถอดรหัสได้เลย สรุปก็คือ Digital TV ในหนึ่งช่องสัญญาณ จะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์

ทำไมถึงควรเปลี่ยนจาก Analog มาสู่ Digital TV - การแพร่กระจายคลื่นแบบ Analog มีขีดจำกัดในเรื่องของการส่งสัญญาณ ซึ่งจะใช้ความกว้างช่องสัญญาณมาก ทำให้คลื่นสัญญาณถูกรบกวนได้ง่าย สัญญาณภาพมีคุณภาพต่ำ รวมไปถึงไม่สามารถประยุกต์ไปใช้งานร่วมกับสื่อผสมอื่นๆ ได้ สำหรับข้อได้เปรียบของ Digital TV มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

๑. เป็นการใช้ช่องสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมในระบบ Analog ใช้ช่องสัญญาณหนึ่งช่องต่อหนึ่งรายการและมีการวางช่องสัญญาณคลื่นความถี่ติดกันหรือสถานีส่งใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่ที่อยู่ติดกันได้ แต่ในระบบ Digital สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่ที่ติดกัน ทำให้ใช้ช่องสัญญาณได้เต็มที่ครบทุกช่อง และสามารถออกอากาศในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้โดยไม่รบกวนกัน และในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถออกอากาศได้หลายๆ รายการไปพร้อมๆ กัน (Multi Channel) ทำให้สามารถส่งรายการได้มากขึ้นกว่าเดิม สรุปก็คือ จะทำให้มีรายการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในความเห็นของผม ผู้ประกอบการจะแข่งขันกันด้วยเนื้อหา โดยในแต่ละรายการจะมีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม รวมไปถึงการโฆษณาก็จะมีการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนดูที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

๒. Digital TV มีสัญญาณที่มีคุณภาพดีกว่าและไม่มีการรบกวนจากสภาวะแวดล้อมเหมือนใน Analog เนื่องจากในระบบ Analog มีการผสมคลื่นแบบเข้ารหัสสัญญาณที่ไม่ต่อเนื่อง สำหรับ Digital TV มีการเข้ารหัส (Decode) ถอดรหัส (Encode) และมีระบบควบคุมเพื่อชดเชยสัญญาณได้ด้วย จึงทำให้สัญญาณไม่ถูกรบกวน สัญญาณภาพมีความต่อเนื่อง และภาพที่รับได้จะมีความคมชัดมาก

๓. ในระบบ Analog มีสัญญาณภาพหลายมาตรฐาน คือ PAL, NTSC, SECAM ทำให้การควบคุมคุณภาพ การตัดต่อภาพและตกแต่งภาพระหว่างมาตรฐานที่แตกต่างกันทำได้ยาก และยังทำให้คุณภาพด้อยลงเมื่อผ่านกระบวนการตัดต่อหลายๆ ครั้ง แต่ระบบ Digital นั้นมีการใช้มาตรฐานการเข้ารหัสภาพแบบเดียว คือ MPEG-๒ (ปัจจุบันพัฒนามาเป็น MPEG-๔) ซึ่งมีคุณสมบัติของภาพที่หลากหลาย มีกระบวนการสร้างภาพที่ซับซ้อนกว่า แต่ให้คุณภาพที่ดีมากกว่า สามารถนำไปใช้งานในสื่อผสมอื่นๆ ที่หลากหลาย และเป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุดในขณะนี้ จึงทำให้การนำไปใช้งานได้ครอบคลุมทุกวงการในการสื่อสารเกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน

๔. Digital TV ให้ขนาดของการมองภาพในมุมมองที่ดีขึ้น ในระบบ Analog จะมีขนาดของการมองภาพที่แคบ (๗๕๘ x ๕๗๘ - PAL อัตราส่วนภาพ ๔:๓) และมีความละเอียดภาพที่ต่ำ การแสดงผลที่จอภาพไม่มีความชัดเจน ยิ่งจอภาพมีขนาดมากขึ้นจะยิ่งให้รายละเอียดที่ต่ำกว่า ส่งผลให้การแสดงผลบนจอโทรทัศน์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่มากๆ ขาดความชัดเจนของภาพ ทั้งนี้ หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการใช้ LCD และ Plasma TV กับสัญญาณ Analog จะเห็นได้ว่าภาพขาดความชัดเจนและมีรายละเอียดที่ต่ำ แต่ระบบ Digital จะสามารถเลือกการเข้ารหัสสัญญาณภาพได้หลายขนาด (๑๐๘๐ x ๗๒๐, ๑๙๒๐ x ๑๐๘๐ ที่อัตราส่วนภาพ ๑๖:๙) ให้ความละเอียดสูง ทำให้การแสดงผลที่จอภาพมีความคมชัดสูงแบบ HDTV (High Definition Television) มีมุมมองภาพที่กว้างมากขึ้น ( Width Screen ) ภาพที่ได้ดูสมจริงและมองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้น

๕. สามารถให้บริการในลักษณะ ๒ ทิศทาง การแพร่คลื่นระบบ Digital สามารถทำเป็นระบบตอบสนอง รับและส่งข้อมูลระหว่างสถานีฯ กับผู้ชมรายการได้ เป็นบริการเสริมสำหรับการจัดรายการโทรทัศน์ที่ผู้รับชมสามารถเลือกข้อมูลสำหรับตอบโต้กับรายการโทรทัศน์ได้ผ่านอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณอื่นๆ ที่ติดตั้งเสริมขึ้นมา เช่น การให้บริการข้อมูลที่ส่งไปพร้อมสัญญาณภาพ (Video) ในระบบ Digital สามารถใส่รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ไปพร้อมสัญญาณ Video เพื่อให้ผู้รับบริการเลือกเปิดดู ใช้ค้นหาข้อมูลเสริมอื่น หรือเปิดดูรายการโทรทัศน์ เป็นการให้บริการข้อมูลที่หลากหลายผ่านช่องรายการโทรทัศน์

๖. การแพร่กระจายคลื่นระบบ Digital รองรับการส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์พกพาประเภทต่างๆ ได้ โดยผู้รับบริการสามารถรับสัญญาณภาพและเสียงด้วยโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ เคลื่อนที่ได้ทุกสถานที่และทุกเวลาที่มีสัญญาณส่งไปถึง อีกทั้งยังสามารถมีบริการเสริมเช่นเดียวกับ Data Broadcasting โดยสามารถเปิดเชื่อมข้อมูลเข้ากับเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ตและบริการออนไลน์ได้พร้อมๆ กับการเลือกชมรายการโทรทัศน์ ค้นหาและเชื่อมต่อข้อมูลได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านรายการโทรทัศน์ได้หลากหลาย เช่น อาจทำเป็นระบบ E-Commerce ที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านรายการโทรทัศน์ได้นั่นเอง

๗. Digital TV มีการบริการ Closed Captioning ซึ่งบริการนี้เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือคนหูหนวกหรือผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ไม่ให้มีอุปสรรคในการรับชมรายการ  อนึ่ง คุณสมบัติ Closed captioning นี้จะคล้ายคลึงกับ Captioning ที่มีในเครื่องรับทีวีอนาล็อกชนิดสนับสนุนฟังก์ชั่น Teletext ซึ่งลักษณะของบริการ Closed captioning โดยทั่วไปจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสีดําปรากฏอยู่ด้านล่างของจอภาพ ภายในแสดงข้อความที่ตัวละครกําลังพูดอยู่ในขณะนั้น

๘. มีบริการ Multiview ทําให้ผู้รับชมรายการหลักสามารถเลือกดูภาพจากมุมกล้องอื่นๆ ได้นอกเหนือไปจากที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอในเวลานั้นได้ รวมถึงการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายการในขณะนั้นเพิ่มเติม ประเภทของรายการหลักที่จะได้รับประโยชน์จาก Multi-view อย่างเห็นได้ชัดก็คือ รายการกีฬา เช่น รายการแข่งขันฟุตบอล เทนนิส แข่งรถ เป็นต้น ทั้งนี้ การส่ง multi-view จะใช้ช่องสัญญาณเพิ่มเติมสําหรับส่งผ่านบริการไปยังผู้ชมปลายทาง อาทิเช่น ใช้ ๑ ช่อง เป็นช่องหลักออกอากาศรายการกีฬาพร้อมๆ กับอีก ๒ ช่องเพิ่มเติมเป็นบริการ Multi-view โดยช่องหนึ่งใช้ส่งข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเกมการแข่งขัน (Comments) ในขณะที่ช่องที่สองจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเล่นในเกม (Details)

สรุปก็คือ Digital Television จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีช่องรายการที่มากขึ้นแล้ว ภาพและเสียงก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการรับชมโทรทัศน์ รายการจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพของเนื้อหาที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักของ Digital TV ก็คือ ทุกบ้านที่รับสัญญาณจะต้องมีอุปกรณ์ในการรับมาติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งอุปกรณ์ในการแปลงสัญญาณยังมีราคาที่แพง (ประมาณ ๓๐ ดอลลาร์) ทั้งนี้ รัฐบาลอาจต้องมีการกำหนดนโยบายในการให้การสนับสนุน เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะแจกคูปองมูลค่า ๔๐ เหรียญให้ประชาชนไปแลกซื้อเครื่องแปลงสัญญาณ Digital TV รัฐบาลควรผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายหลักของชาติ ซึ่งผมค่อนข้างดีใจที่เรื่องนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่ กสทช. จัดให้อยู่ในแผนแม่บทวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ โดยมุ่งเปลี่ยนการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบ Digital ดังนั้น เราคงต้องคอยจับตามองว่าเมื่อไหร่จะได้เห็น Digital TV ในเมืองไทยสักที (สยามรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒ ก.พ.๒๕๕๕)